วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ท่านกำลังเอารสนิยมทางการเมือง ไปตัดสินศีลธรรมทางศาสนาอยู่หรือเปล่า???


        ผมฟังข่าว อ่านข่าวเรื่องเกี่ยวกับพระและพระพุทธศาสนาในเวลานี้ ผมเห็นฝักฝ่ายที่มีความคิดตรงข้าม ออกมาให้ความเห็นอย่างเป็นปฏิปักษ์กัน ราวกับเป็นศัตรูกันมายาวนาน พยายามยกอ้างข้อกฎหมาย จริยธรรม พระวินัยของสงฆ์ต่างๆ มากมายเกินกว่าชาวบ้านทั่วไปจะแยกแยะได้ว่า อะไรผิดอะไรถูก เพราะไม่รู้ทั้งเรื่องกฎหมายสงฆ์ และพระวินัยของพระภิกษุ ได้แต่ฟังและอ่านด้วยความห่วงใยบ้านเมืองและพระพุทธศาสนา แล้วใช้วิจารณญาณส่วนบุคคลในการเลือกเชื่อว่าใครน่าจะดูมีเครดิตกว่ากัน ระหว่างสองฝ่ายที่ออกมาโต้กันทางสื่อ

         ถ้าไม่นับคนที่มีความรู้ทางศาสนา คนทั่วๆไปที่ไม่มีความรู้เรื่องราวเหล่านี้เป็นทุนเดิม ถ้าเปรียบก็เหมือนคนตาบอดในเรื่องนี้  ผมเห็นวิธีตัดสินใจเดินต่อในเรื่องนี้ 2 แบบ คือ

         กลุ่มที่ 1 เลือกที่จะพึ่งตนเอง เหมือนคนตาบอดใช้ไม้เท้านำทาง เปรียบกับเรื่องนี้ คือการศึกษาหาความรู้ และเลือกที่จะฟังเสียงรอบข้าง แล้วจึงค่อยตัดสินใจว่าจะเดินไปทางไหนดี ผมว่าพวกนี้ไม่ค่อยมีปัญหา

           กลุ่มที่ 2 เลือกที่จะพึ่งคนอื่น เหมือนคนตาบอดยอมให้คนตาดีจูงไป เปรียบกับเรื่องนี้ คือ เลือกดูว่าฝ่ายใดน่าเชื่อถือกว่ากัน ก็จะยอมเดินตามที่เขาพูดมา ซึ่งธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคมตามทฤษฎีสังคมวิทยา มีแนวโน้มใช้ตรรกะการเข้าพวกเป็นเกณฑ์การตัดสินใจ เช่น พวกญาตินิยมก็ว่าคนที่เรารู้จักมักคุ้นดูน่าเชื่อถือกว่า พวกภาคนิยมก็ว่าคนบ้านเดียวกับเราดูน่าเชื่อถือกว่า บางคนก็ดูเครดิตทางสังคมเป็นเกณฑ์              และกลุ่มที่เห็นมากที่สุดในเวลานี้คือ เอารสนิยมทางการเมืองเป็นเกณฑ์ตัดสิน คือถ้าพวกสีเดียวกันพูดอะไรถูกหมด ดังนั้นเพื่อสะดวกในการคิดตัดสินใจ คนฝั่งตรงข้ามกับพวกเดียวกัน ก็ถูกเหมาว่าเป็นพวกการเมืองสีที่เป็นปฏิปักษ์กันไปซะเลย ทำนองว่าจะได้โจมตีได้สนิทใจขึ้น เพราะว่าทางเรื่องศีลธรรมก็ไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรนัก แล้วการโจมตีทางการเมืองไม่จำเป็นต้องกระมิดกระเมี้ยนด้วยจริตทางศีลธรรมใดๆ สะดวกปากดี

            อันที่จริง เรื่องรสนิยมทางการเมือง เป็นคนละเรื่องกับเรื่องศีลธรรมในศาสนาเลยนะ

          การเมืองเป็นเรื่องผลประโยชน์ของคนมีกิเลส การตัดสินว่าฟากไหนดีไม่ดี ถูกไม่ถูก หาเกณฑ์แน่นอนไม่ได้ ไม่งั้นจะมีความแนวนิยมทางการเมืองหลายแบบเหรอ มีทั้งประชาธิปไตย คอมมิวนิสต์ สังคมนิยม เผด็จการ สมบูรณาญาสิทธิราช และอีกหลายแบบพะเรอเกวียนที่เคยมีคนบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ซึ่งนักรัฐศาสตร์ทั่วโลกยอมรับกันว่า ไม่มีรูปแบบการปกครองใดสมบูรณ์ที่สุด รูปแบบหนึ่งๆ ก็เหมาะกับยุคสมัยที่ต่างกัน แม้วันนี้โลกนิยมประชาธิปไตย แต่ถ้าเอาความสุขโดยรวมของประชาชนเป็นเกณฑ์ เราก็บอกไม่ได้ว่า ประชาธิปไตยในวันนี้ดีกว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชในอดีต(อ้อ ลืมไป วันนี้ประชาธิปไตยกำลังเพาะเมล็ดอยู่)

              ส่วนเรื่องศีลธรรมในพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องของคนอยากหมดกิเลส และเป็นเรื่องที่มีกฎเกณฑ์ตัดสินตายตัว ไม่สนว่าพวกใคร ไม่สนว่าข้างไหนเสียงดังกว่า ไม่สนว่าผู้มีอำนาจสนับสนุนฟากไหน อย่างในสมัยพุทธกาล พระเจ้าอชาตศัตรูซึ่งเข้าพวกกับพระเทวทัตเป็นกษัตริย์แคว้นมคธที่มีอำนาจมาก สนับสนุนกำลังคนและอาวุธให้เทวทัตตามฆ่าพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธองค์ก็ไม่ได้ตอบโต้อะไร ไม่เปลี่ยนหลักการทางศีลธรรม พระเจ้าอชาตศัตรูฆ่าพ่อตัวเอง ก็ยังเป็นบาป เป็นอนันตริยกรรมตามหลักพระพุทธศาสนาเช่นเดิม ส่วนพระองค์ก็เสด็จย้ายไปประทับที่แคว้นโกศล จนถึงปลายสมัยพุทธกาล พระเจ้าอชาตศัตรูได้สำนึกในความผิด ก็ไปกราบขอขมาโทษต่อพระพุทธเจ้า หลังจากนั้นก็ได้กระทำการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่ จนได้ชื่อว่าเป็นองค์พุทธศาสนูปถัมภกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคนั้น นอกเหนือจากพระเจ้าอโศกมหาราช

           ผลการเลือกข้างทางการเมือง ก็มีแพ้มีชนะแบบโลกๆ ในฐานะชาวบ้าน เมื่อข้างตนชนะก็สะใจ แพ้ก็ห่อเหี่ยวกันไป แต่ก็ไม่ได้ผลประโยชน์หรือโทษอะไรเป็นชิ้นเป็นอันนัก ยังจนเหมือนเดิม ยังต้องดิ้นรนทำมาหากินกันต่อไป

            แต่ผลการเลือกข้างทางศีลธรรม มีผิดถูกชัดเจน เข้าข้างผิดก็เป็นบาปอกุศลมีผลวิบากกรรมเป็นทุกข์ทั้งในชาตินี้ชาติหน้า ถ้าเลือกข้างถูกก็เป็นบุญกุศล มีผลวิบากที่เป็นสุขทั้งในชาตินี้และชาติต่อๆไป แม้จะมีพวกมาก มีผู้มีอำนาจสนับสนุนถ้าผิดศีลธรรม ก็ผิดอยู่วันยังค่ำ ไม่มีอะไรลบล้างได้ แม้สำนึกได้ในภายหลังก็ไม่อาจพ้นผลวิบากกรรมได้ อย่างพระเทวทัตที่สำนึกได้ในภายหลังก็ยังไปอเวจีมหานรกอยู่ดี แต่อย่างพระเจ้าอชาติศัตรูทำบุญไถ่โทษเป็นการใหญ่ เลยลดหย่อนผ่อนโทษไปแค่นรกขุมบริวารของโลหกุมภีนรก
            เพราะฉะนั้น อย่าเอาเรื่องรสนิยมทางการเมือง มาเป็นเกณฑ์ตัดสินความผิดถูกทางศีลธรรมเลยนะ ไม่คุ้มกับผลที่จะได้เลยครับ

            คนกลุ่มที่ 2 นี้บางคนแม้ตัดสินเลือกเชื่อไปแล้ว แต่ยังมีสติยับยั้ง ไม่พลอยผสมโรงกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไป แต่ปัญหาคือ บางคนพอตัดสินใจเลือกเชื่อ หรือเลือกข้างได้แล้ว ก็อินจัด พลอยดราม่าผสมโรงไปด้วย อ่านบางคอมเม้นท์แล้วทำใจเฉยๆ ก็ขำในตรรกะทางความคิด ว่า พวกข้ามีคุณธรรมสูงส่งกว่าใคร และต้องถูกต้องเสมอ โดยไม่ได้หยุดคิด แยกแยะว่า เรื่องการเมืองเป็นเรื่องทางโลก แต่เรื่องพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องทางธรรม




             ทำให้ผมนึกถึง เรื่องเล่าเรื่องหนึ่ง จากคอลัมน์ Market-Think ของคุณสรกล อดุลยานนท์ ในประชาชาติธุรกิจ ให้ข้อคิดในวิธีแก้ปัญหาด้วยสติ โดยหยุด "ดู" ปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วนั่งเงียบๆ "ฟัง" เหตุผลจากใจตัวเอง มีความว่า

เศรษฐีกับพวกไปเที่ยวฟาร์มแห่งหนึ่ง ทุกคนสนุกสนานกับธรรมชาติและกิจกรรมในฟาร์มมาก
จนมาถึงการโชว์ในคอกม้า นอกจากการโชว์ลีลาของม้าแล้ว ทุกคนยังได้ขี่ม้าเล่นอีกด้วย
จบกิจกรรมในคอกม้าด้วยความสนุกสนาน

แต่ขณะที่กำลังจะเดินออก เศรษฐีคนนั้นก็พบว่า "นาฬิกาพก" รุ่นเก่าที่ภรรยาซื้อให้ในวันเกิดหายไป
มันต้องตกอยู่ในคอกม้าอย่างแน่นอน
เขากับเพื่อนช่วยกันกระจายกันเดินหา "นาฬิกา" ทั่วคอกม้า

ระหว่างเดินหาเพื่อนก็พยายามพูดให้กำลังใจเศรษฐีคนนี้
เดินหาเท่าไรก็ไม่พบ

เขาไปแจ้งเจ้าของฟาร์มให้ช่วยเหลือ
เจ้าของก็แสนดี เกณฑ์คนที่ว่างงานอยู่เกือบ 20 คนไปค้นหา
มีทั้งคุณลุงที่ประจำอยู่คอกม้า ผู้หญิงที่ทำความสะอาด และเด็กชายคนหนึ่ง

ทุกคนกระจายกันค้นหา มีการตะโกนบอกกันเป็นระยะๆ ว่า ค้นตรงนั้นแล้วไม่เจอ ให้คนนั้นไปหาตรงนี้
ใช้เวลาค้นหาประมาณ 1 ชั่วโมงก็หา "นาฬิกา" ไม่เจอ

เศรษฐีเริ่มสิ้นหวัง คิดว่าคงต้องสูญเสียนาฬิกาเรือนนี้ไปอย่างแน่นอน
ขณะที่พนักงานของฟาร์มจะเดินจากไป เด็กชายคนนั้นเดินย้อนกลับมาหาเศรษฐีคนนี้อีกครั้ง

"ขอผมลองเข้าไปดูอีกครั้งนะครับ แต่ขอผมเข้าไปคอกม้าคนเดียว"

แม้จะรู้สึกว่าเสียเวลาเปล่า แต่เมื่อเด็กน้อยมีน้ำใจ เขาก็พยักหน้าทั้งที่ไม่มั่นใจว่าจะหาเจอ
พวกเพื่อนๆ ก็บ่นลับหลังว่า พวกเราและคนของฟาร์มตั้งเยอะยังหาไม่ได้

"ไปหาคนเดียวจะเจอได้อย่างไร"

แต่ไม่ถึง 15 นาที เด็กชายคนนี้เดินออกมาด้วยรอยยิ้ม เขาชูนาฬิกา

"ใช่ เรือนนี้หรือเปล่าครับ"

เศรษฐีดีใจมาก เพราะนั่นคือ "นาฬิกาพก" แสนรักที่เขากำลังค้นหาอยู่
เขากล่าวขอบคุณและให้สินน้ำใจกับเด็กน้อย
แต่ยังคาใจ

"เธอหาเจอได้อย่างไร"

เด็กน้อยยิ้มแฉ่ง บอกว่า พอเข้าไปข้างในคนเดียว เขาก็เพียงแต่นั่งเงียบๆ แล้วค่อยๆ เปลี่ยนจุดนั่งไปเรื่อยๆ
"แค่จุดที่ 3 ผมก็ได้ยินเสียงติ๊กต่อก ติ๊กต่อก" เขาเล่า
"ผมแค่เดินตามเสียงนั้นไปก็เจอนาฬิกาเรือนนี้"

ครับ การค้นหานาฬิกาเรือนนี้ทั้ง 2 ครั้ง ทุกคนคุยกันไปหากันไป
ทุกคนพยายามมองหาตัว "นาฬิกา"
ไม่ได้คิดจะฟัง "เสียง" ของนาฬิกา

เสียงพูดคุยกลบเสียงดังของนาฬิกาไปสิ้น
เรื่องเล่าเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าการแก้ปัญหาไม่ได้มีเพียงหนทางเดียว

เราสามารถค้นหา "นาฬิกา" ได้ 2 แบบ
จะ "ดู" หรือจะ "ฟัง"

ทุกปัญหาก็เช่นกัน เราจะแก้ปัญหาแบบที่คนส่วนใหญ่ทำ
หรือเราจะมองปัญหาให้ละเอียด มองให้ครบทุกองค์ประกอบ

บางทีการแก้ปัญหาอาจมีหลายหนทาง
และอีกเรื่องหนึ่งที่ "เด็ก" คนนี้สอนเราก็คือ ในภาวะที่ปัญหาหนักหนาสาหัสแบบวันนี้ 
บางครั้งเราต้องนิ่ง ต้องมี "สติ" ทำใจให้สงบ

เมื่อมีสมาธิ จึงจะค้นพบ "ทางออก"
ครับต้องนิ่ง และเงียบเท่านั้น
เราจึงจะได้ยินเสียง "นาฬิกา"

วันนี้ลองหยุดส่งเสียงด่าทอกันสักวัน แล้วลองฟังเสียงของความยุติธรรมในใจเราว่า อะไรคือผิด อะไรคือถูก

การด่าคนอื่น เป็นความดีจริงหรือ การด่าทอกันทำให้ใครเป็นคนดีขึ้น หรือบ้านเมืองดีขึ้นได้หรือเปล่า ถ้าได้จริง ต่อไปนี้เราจะได้ตั้งหน้าตั้งตาด่ากันอย่างจริงจัง

การไม่ยอมฟังกัน ไม่พูดกันก่อนด้วยเหตุผล เอาแต่โพนทะนาว่า เอ็งผิด เอ็งชั่ว เป็นสิ่งดีถูกต้องจริงหรือ



ผมเชื่อว่า ทุกคนมีจิตเดิมแท้ที่สว่างไสว วันนี้ ลองฟังหัวใจตัวเองกันดูนะครับ




1 ความคิดเห็น: